โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 , 15:42:19 (อ่าน 2,188 ครั้ง)
ขอแสดงความยินดีกับ 2 อาจารย์ คณะศิลปศาสตร์
ที่ได้รับคัดเลือกจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
เป็นนักแปลหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียน (ภาษาเขมรและภาษาลาว)
---------------------------------------
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย คงเพียรธรรม และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรี ศรีคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในโอกาสที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นนักแปลในโครงการแปลหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียน (ราชอาณาจักรกัมพูชา)ภาษาเขมร เรื่อง“ในเงามืด” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย คงเพียรธรรม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรี ศรีคำ ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็นนักแปลในโครงการแปลหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียน (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)ภาษาลาว เรื่อง“นิทานพื้นเมืองเผ่าม้ง กำพร้า และนก” ซึ่งพิจารณาคัดเลือกนักแปลจากทั่วประเทศ เมื่อวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม 2564 และ วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย คงเพียรธรรม อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจมากที่ได้รับการพิจารณาจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม คัดเลือกให้เป็นนักแปลหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียน (ราชอาณาจักรกัมพูชา) ภาษาเขมร เรื่อง “ในเงามืด” ครั้งนี้ จากผลการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิโครงการแปลหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียน ที่คัดเลือกหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรม จากราชอาณาจักรกัมพูชา จำนวน 13 เล่ม ได้แก่ ในเงามืด น้ำหมึกขม ท้องฟ้าเกล็ดนาค วิบัติในสมรภูมิเสน่หา ผกาโรย ความฝัน เด็กวัดสมัยฝรั่งเศส/เด็กโรงเรียนฝรั่งเศส ทายาทงู ประชุมนิทานพื้นบ้านเขมร ภาค 1 และภาค 2 ข้าวในประเพณีเขมร ดนตรีและชีวิตเขมร อาหารในสังคมเขมร และตำราไสยศาสตร์เมืองพระตะบอง โดยประกาศรับสมัครและคัดเลือกนักแปลผู้ที่มีความรู้และความสนใจจากทั่วประเทศในโครงการแปลหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียน (ราชอาณาจักรกัมพูชา) โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ภาษาและวัฒนธรรมเขมรในระดับดี สามารถตีความและแปลถ่ายทอดเนื้อหาจากภาษาเขมรเป็นภาษาไทยได้เป็นอย่างดี มีความรู้ด้านไวยากรณ์ไทยและการใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง สละสลวย และเหมาะสมกับประเภทของงานเขียน ตลอดจนความรู้ความเข้าใจ รูปแบบ องค์ประกอบ การตีความ กลวิธี และแนวทางการเขียนหนังสือเป็นอย่างดี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรี ศรีคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและดีใจที่สุดที่ได้รับการพิจารณาจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม คัดเลือกให้เป็นนักแปลหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียน (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ภาษาลาว เรื่อง“นิทานพื้นเมืองเผ่าม้ง กำพร้า และนก” โดยมี ผู้ทรงคุณวุฒิโครงการแปลหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียน ที่คัดเลือกหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรม จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 12 เล่ม ได้แก่ จันทะพานิด นกสิบฝน สองเอื้อยน้องอาณาจักรบินบน บ่บานก็หอม บัวแดง ความโอ่นซา นิทานพื้นเมืองเผ่าม้ง กำพร้า และนก มนตร์เสน่ห์เสียงแคนแผ่นดินเกิด สืบทาว ลาวมโหรี ซิ่นกับแม่ญิงลาว และเรือนลาว โดยประกาศรับสมัครและคัดเลือกนักแปลผู้ที่มีความรู้และความสนใจจากทั่วประเทศในโครงการแปลหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียน (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ภาษาและวัฒนธรรมลาวในระดับดี สามารถตีความและแปลถ่ายทอดเนื้อหาจากภาษาลาวเป็นภาษาไทยได้เป็นอย่างดี และในส่วนของคุณสมบัติภาพรวมทั้งหมดก็จะเหมือนกับการรับสมัครนักแปลภาษาต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศทุกประการ
ผลจากการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิ/คณะกรรมการประจำภาษาอาเซียนในโครงการแปลหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียน (ภาษาเขมร และภาษาลาว) ได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกผลงานแปลหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียน (ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) เสร็จสิ้นแล้ว ในส่วนของการแปลหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียน (ภาษาเขมร) จำนวน 9 ราย และ(ภาษาลาว) จำนวน 8 ราย จากการพิจารณาผลงานนักแปลทั่วประเทศ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย คงเพียรธรรม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรี ศรีคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน คณะศิลปศาสตร์ที่ได้รับการพิจารณาและผ่านการคัดเลือกให้เป็นนักแปลในโครงการฯ ดังกล่าว และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในโอกาสนี้เป็นอย่างยิ่ง
------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ข่าว/ภาพ facebookโครงการแปลหนังสืออาเซียน