โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 , 11:36:10 (อ่าน 2,831 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย งานควบคุมโรค กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินโครงการสำรวจดัชนีความชุก และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปี 2564 เพื่อเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก ในพื้นที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี นางสาวนุจรี ศิริคุณ เจ้าพนักงานส่งเสริมสุขภาพ รับผิดชอบงานหลักงานควบคุมโรคและระบาดวิทยา และ นางสาวชุดาภา มากดี พยาบาลวิชาชีพ นำเจ้าหน้าที่พร้อมเครือข่ายนักศึกษาจิตอาสา ลงพื้นที่สำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ในอาคารสำนักงานคณะต่างๆ อาคารเรียน ทั้งบริเวณภายในและรอบนอกอาคาร ระหว่างวันที่ 6 -19 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี อาการของโรคไข้เลือดออกมีตั้งแต่ไม่มีอาการผิดปกติไปจนถึงเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้น การป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดด้วยการป้องกันการแพร่ของยุง ป้องกันไม่ให้ยุงวางไข่ หรือป้องกันไม่ให้ไข่กลายเป็นยุง เน้นที่การควบคุมลูกน้ำด้วยการกําจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ สามารถทําลายได้ง่ายและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ ยึดตามมาตรการหลัก 5 ป. 2 ข. กระทรวงสาธารณสุข คือ ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับ ปฏิบัติ ขัดไข่ยุงลาย และขยะ เพื่อกําจัดลูกน้ำยุงลายก่อนที่จะกลายเป็นตัวยุงเต็มวัยทุกสัปดาห์ มาตรการหลัก 5 ป. 2 ข. ดังนี้
ป ที่ 1 : ปิด ปิดภาชนะน้ำขังให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่
ป ที่ 2 : ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร
ป ที่ 3 : เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในภาชนะทุก 7วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง
ป ที่ 4 : ปรับปรุง ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในและรอบบ้าน ให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย
ป ที่ 5 : ปฏิบัติ ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย
1ข : ขัด ขัดภาชนะก่อนเปลี่ยนน้ำ เพื่อกำจัดไข่ยุงที่เกาะอยู่ภายในภาชนะ
2 ข : ขยะ จัดการขยะเพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี /ข่าว