โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 , 14:06:32 (อ่าน 1,195 ครั้ง)
ม.อุบลฯ พร้อมสนับสนุนและผลักดันเมืองอุบลราชธานีสู่
“เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของ UNESCO”
----------------------------------------
เมื่อวันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2564 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกิจกรรมสร้างการรับรู้และรับฟังความคิดเห็นกลุ่มใหญ่ระดับจังหวัด เมืองอุบลราชธานี ภายใต้กิจกรรม “การศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมของเมืองที่สามารถพัฒนาสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO”ณ ห้องประชุมพิมานทิพย์ อาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ประธาน และในส่วนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำทีมโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ นักวิจัยโครงการการจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี (ฟื้นใจเมืองเขมราฐเฟสสาม) พร้อมด้วย นายกเทศมนตรีตำบลเขมราฐ ตัวแทน องค์การบริหารส่วนตำบลเจียด ชมรมรัก(ษ์)วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอำเภอเขมราฐ ชมรมศิลปวัฒนธรรมคนสามวัยใส่ใจสุขภาพ และชมรมอนุรักษ์ต้นตำรับรำตังหวาย ในฐานะภาคีเครือข่ายผลักดันเมืองอุบลราชธานีสู่ “เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของ UNESCO” เข้าร่วมกิจกรรมนี้ จัดโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมสร้างสรรค์ด้านต่างๆของเมือง การรับฟังความคิดเห็นและร่วมกันจัดทำ inventory ด้านวัฒนธรรม และแผนที่วัฒนธรรมของเมือง ที่จะนำไปสู่การวางกรอบการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การจัดกิจกรรมครั้งนี้ กำหนดให้มีการแสดงดนตรี การแสดงรำตังหวาย โดยกลุ่มอนุรักษ์ต้นตำรับรำตังหวาย ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี การแสดงหมอลำโดย นายฉลาด ส่งเสริม (ป.ฉลาดน้อย) ศิลปินแห่งชาติ และบรรเลงพิณโดย นายทองใส ทับถนน เพื่อผลักดันอุบลราชธานีสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ เสนอความเห็นว่า ปัจจุบันเมืองอุบลราชธานีมีความพร้อมเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี มีต้นทุนในพื้นที่ที่ดี ทั้งศิลปินแห่งชาติด้านดนตรีมากที่สุดในประเทศถึง 7 ท่านด้วยกัน และยังมีประวัติศาสตร์ด้านดนตรีอย่างยาวนาน มีระบบนิเวศน์สี่กลุ่มที่ต้องทำงานด้วยกัน ประกอบด้วย สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวะศึกษา โรงเรียน สนับสนุนงานวิชาการและงานวิจัยด้านดนตรีและการแสดง หน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีนโยบายในการผลักดันที่ชัดเจน เปิดพื้นที่สาธารณะสำหรับดนตรี การแสดง ภาคเอกชนและภาคการค้า ถ้าจะทำให้ศิลปวัฒนธรรมอยู่อย่างยืนยาว จะต้องฝังลงไปในระบบเศรษฐกิจ องค์กรเอกชนจะทำหน้าที่หล่อลื่นและหล่อเลี้ยง ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรมที่พัก หอการค้า สภาอุตสาหกรรม และชุมชน ประชาสังคม รวมทั้งชุมชนคนทำเพลง นักร้อง นักดนตรี นักแสดง ชมรมในท้องถิ่นที่ทำเรื่องดนตรี การแสดง ชุมชนจะทำให้งานดนตรีฝังรากลึงภายในชุมชน ซึ่งการทำงานต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกภาคส่วน เพื่อเสริมพลังซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพร้อมสนับสนุนและผลักดันเมืองอุบลราชธานีสู่ “เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของ UNESCO” อย่างเต็มที่ ด้วยความตั้งใจที่จะเป็น “มหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน เป็นหลักของท้องถิ่น และเป็นปัญญาแห่งแผ่นดิน” ตามยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตร่วมกับชุมชน (Sharing the Future with the Community) ให้ยั่งยืนต่อไป
--------------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ข่าว/ภาพ อาจารย์วศิน โกมุท คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ