โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงษ์ วันที่ 12 ธันวาคม 2564 , 23:47:57 (อ่าน 1,616 ครั้ง)
สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีมติอนุมัติปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ประจำปี 2564 แด่ ศาสตราจารย์กิตติคุณปิยนาถ บุนนาค ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานทางวิชาการดีเด่น มีคุณูปการต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ หรือนานาชาติ ผลงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ปีการศึกษา ๒๕๖๓ ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๔ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ศาสตราจารย์กิตติคุณปิยนาถ บุนนาค เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ สำเร็จการศึกษา อักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๓ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (การปกครอง) เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๓ และรัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๓ เริ่มทำงานในตำแหน่งอาจารย์ สังกัดภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพ.ศ. ๒๕๑๒ ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ พ.ศ. ๒๕๒๘ สำหรับงานด้านการบริหาร ศาสตราจารย์กิตติคุณปิยนาถ บุนนาค ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศในเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ และได้พัฒนาองค์กรจนได้รับรางวัลประเภทที่ ๑ หน่วยงานที่ให้การบริการที่ประทับใจ โครงการรางวัลคุณภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับ CU-Quality Prize ประจำปี ๒๕๕๐
ศาสตราจารย์กิตติคุณปิยนาถ บุนนาค มีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ประวัติศาสตร์ประเทศศรีลังกา และประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีผลงานทางวิชาการที่สำคัญ คือหนังสือ เรื่อง “ประวัติและอารยธรรมของศรีลังกา : สมัยโบราณถึงก่อนสมัย อาณานิคมและความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างศรีลังกากับไทย” และเรื่อง“ศรีลังกา : การเสด็จพระราชดำเนินเยือนของสองพระมหากษัตริยาธิราชไทย” ซึ่งทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศศรีลังกา จนเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการในประเทศไทยและนักวิชาการต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัย ด้านประวัติศาสตร์ไทย อาทิ “๙ แผ่นดินของการปฏิรูประบบราชการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระอัจฉริยภาพในการบริหารจัดการ” “ประวัติศาสตร์กิจการสื่อสารโทรคมนาคม: พระมหากษัตริย์กับ การสื่อสารโทรคมนาคม” “นโยบายการปกครองของรัฐบาลต่อชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้” และ “คลองในกรุงเทพฯ: ความเป็นมา การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อกรุงเทพฯในรอบ ๒๐๐ ปี”
ศาสตราจารย์กิตติคุณปิยนาถ บุนนาค ได้รับรางวัลและเกียรติคุณต่าง ๆ ด้านการสอน การวิจัยและการเป็นต้นแบบอาจารย์ที่ดี ได้แก่ รางวัลพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยาประจำปี ๒๕๖๒ สาขามนุษยศาสตร์รางวัลอาจารย์ดีเด่นด้านการเรียนการสอนสาขามนุษยศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๙ จากสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็น ราชบัณฑิต ด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ของสำนักงานราชบัณฑิตสภาเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๗ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกิตติเมธีประจำสาขาวิชาศิลปศาสตร์ โดยคำสั่งสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.๒๕๖๑ ถึง พ.ศ.๒๕๖๓ รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นศรีเขมะสิริอนุสรณ์ ประจำปี ๒๕๖๒ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการจัดทำองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ของราชบัณฑิตยสภาประธานคณะกรรมการจัดทำองค์ความรู้ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าของราชบัณฑิตยสภาบรรณาธิการในคณะบรรณาธิการจัดทำสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยของราชบัณฑิตยสภาและกรรมการในคณะกรรมการศึกษาและพัฒนาความรู้ประวัติศาสตร์ไทยของราชบัณฑิตยสภา
ศาสตราจารย์กิตติคุณปิยนาถ บุนนาค เป็นผู้มีคุณูปการต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอาทิ เป็นวิทยากรอบรมด้านการพัฒนาตำแหน่งทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง เป็นคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองหลักสูตรของสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๔-พ.ศ.๒๕๖๐ และกรรมการพิจารณาผลงานทางวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณปิยนาถ บุนนาค ยังเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาร่างหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงระดับปริญญาตรี ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยเน้นประวัติศาสตร์ของผู้คนและสังคมในพื้นที่เขตวัฒนธรรมเดียวกันของจีนตอนใต้ เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย ซึ่งครอบคลุมประเด็นทางด้านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์สังคมและประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นความจริงของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่มีความสัมพันธ์ร่วมกันทางวัฒนธรรมมาอย่างยาวนานและความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ทำให้เห็นทิศทางการค้นคว้าวิจัยและการศึกษาด้านภูมิภาคลุ่มน้ำโขงศึกษา (Mekong region studies) และได้มอบเอกสารจดหมายเหตุ หนังสืออ้างอิงด้านประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าจำนวนกว่าพันเล่ม ให้แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลให้คณาจารย์และนักศึกษาอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้ถูกเก็บรักษาไว้เพื่อใช้ประโยชน์ที่ศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ศาสตราจารย์กิตติคุณปิยนาถ บุนนาค เป็นแบบอย่างที่ดีในการช่วยเหลือสาธารณชน โดยเป็น ผู้ริเริ่มจัดตั้ง “กองทุนศาสตราจารย์ ดร. ปิยนาถ (นิโครธา) บุนนาค เพื่อเด็กผู้พิการ และผู้สูงอายุ ที่ด้อยโอกาส” โดยรวบรวมทุนจากศิษย์เก่าและกัลยาณมิตร เพื่อมอบให้แก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาสทางสังคมให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตลอดระยะเวลากว่า ๒๐ ปี ซึ่งมีผู้ได้รับทุนการศึกษาจากกองทุนนี้ไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ คน
ศาสตราจารย์กิตติคุณปิยนาถ บุนนาค เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ เป็นแบบอย่างที่ดีในด้านความเป็นครู นักวิชาการ และผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีคุณูปการต่อสาขาประวัติศาสตร์ไทยมาเป็นเวลายาวนานกว่า ๕๐ ปี โดยมีผลงานที่ทรงคุณค่าเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุนี้คณะศิลปศาสตร์จึงเสนอขอพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ แด่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ปิยนาถ บุนนาค เพื่อเป็นการยกย่องและประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏสืบไป