โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 7 เมษายน 2565 , 22:38:34 (อ่าน 1,013 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะเภสัชศาสตร์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเพิ่มศักยภาพครูอนามัย ครูพยาบาลเพื่อการดูแลสุขภาพเด็กวัยเรียน/วัยรุ่น แบบองค์รวม” เพื่อพัฒนาความรู้ และทักษะแก่ครูอนามัย ครูพยาบาล ให้สามารถดูแลสุขภาพเด็กวัยเรียน-วัยรุ่นแบบองค์รวมได้ โดยมี ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ศรีภา คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ เป็นประธานเปิดการอบรม ซึ่งมีครูสังกัดโรงเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 60 คน เข้าร่วมการอบรมทั้งในรูปแบบ ONSITEและ ONLINEณ อาคารนวัตกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิภาพร เมืองจันทร์ อาจารย์?ประจำ?กลุ่มวิชาชีวเภสัช?ศาสตร์?หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ จัดขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะแก่ครูอนามัย ครูพยาบาล ให้สามารถดูแลสุขภาพเด็กวัยเรียน วัยรุ่นแบบองค์รวมได้ จากผลการสำรวจสุขภาพอนามัยเด็กวัยเรียนโดยฝ่ายการศึกษาและฝ่ายสาธารณสุข พบว่า นักเรียนทั่วไปมีพฤติกรรมสุขภาพอนามัยทั้งด้านความรู้ ทัศนคติและการปฏิบัติตัว อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าพอใจ และยังพบการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่ออยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง สาเหตุดังกล่าว อาจเกิดจากระบบการส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนยังไม่ดีพอ และครูอนามัยโรงเรียน/ครูพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ได้มีคุณวุฒิพยาบาลโดยตรง ทำให้การดำเนินงานด้านอนามัยโรงเรียนยังไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควร ดังนั้น คณะเภสัชศาสตร์ จึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาศักยภาพครูอนามัยโรงเรียน/ครูพยาบาล เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับการดูแลอย่างถูกต้องรวดเร็ว สร้างเสริมสุขภาวะของนักเรียน โดยเฉพาะสถานศึกษาที่อยู่นอกเขตชุมชนเมืองที่การบริการสุขภาพอาจจะยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาความรู้และทักษะให้แก่ครู ซึ่งมีการบรรยายและฝึกปฏิบัติ จากวิทยากรประกอบด้วย อาจารย์ประสิทธิชัย พูลผล อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ ภญ.กิตติยาพร ทองไทย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี คุณสุทธิกานต์ จินตะเวช นักกายภาพบำบัดชำนาญการและคณะ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ผศ.ดร.ลักษณีย์ บุญขาว จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข และคณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ ร่วมถ่ายทอดความรู้ในเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพื่อการดูแลสุขภาพ กัญชาและกระท่อมทางการแพทย์ และข้อควรระวัง ร่วมฝึกปฏิบัติการในการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง การประเมินภาวะโภชนาการ และการประเมินภาวะติดสุรา/ภาวะซึมเศร้า การประเมินกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมเพื่อการป้องกันและการแก้ไข สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานในโรงเรียนได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย ในด้านการบริการวิชาการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและสุขภาวะที่ดีในชุมชนและสังคมต่อไป
วิชญาดา เกษกุล นักศึกษาฝึกประสบการณ์ / ข่าว