โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 4 กันยายน 2565 , 19:22:58 (อ่าน 1,219 ครั้ง)
ม.อุบลฯ ขอแสดงความยินดีกับ นักศึกษาทีมอาหารวัวเลียราง และทีมโยเกิร์ตซินไบโอติก
โชว์...ผลงานนวัตกรรมเทคโนโลยี รอบ Prototype to Companyรับทุนการศึกษา 50,000.- บาท
----------------------------------------------
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอแสดงความยินดีกับ นักศึกษาทีมอาหารวัวเลียราง และทีมโยเกิร์ตซินไบโอติก ทั้ง 2 ทีม ที่ส่งผลงานนวัตกรรมเทคโนโลยีผ่านเข้ารอบ Prototype to Company รับทุนการศึกษาทีมละ 50,000.- บาทจากการแข่งขันโครงการสร้างผู้ประกอบการ Micropreneur ประจำปี 2565 (GSB Micropreneur Academy 2022) จัดโดย ธนาคารออมสิน โดยทีมอาหารวัวเลียราง มีสมาชิก จำนวน 4 คน ได้แก่ นายพงศกร เรียงนาม นางสาวเกษนภา บัวทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ระดับปริญญาโท นางสาวพิชญ์สินี นัยวิกุล และนางสาวปภาณิน ป้องบุญมี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเคมี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และทีมโยเกิร์ตซินไบโอติก มีสมาชิก จำนวน 4 คน ได้แก่ นางสาวปรียาภรณ์ แหวนหล่อ นางสาวนลินรัตน์ วงค์ษาเคน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 นางสาวปภัสสร มโนบุตร และนางสาวพรชิตา ลาพรมมา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเคมี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักเกียรติ จิตคติ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อาจารย์ที่ปรึกษา โดยนักศึกษาทั้ง 2 ทีม ได้ผ่านการแข่งขันคัดเลือกมาแล้ว ทั้งหมด 3 รอบ ได้แก่ การแข่งขันรอบมหาวิทยาลัย เพื่อคัดเลือก 40 ผลงานระดับประเทศ (จากการคัดเลือกทั้งหมด 137 ทีม ทั่วประเทศ) และผ่านเข้ารอบการแข่งขันโดยการคัดเลือก 25 ทีม รอบ Prototype to Company ระดับประเทศไทย เพื่อชิงทุนการศึกษาจากธนาคารออมสิน 50,000.- บาท โดยประกาศผลการคัดเลือกเมื่อวันพุธที่ 31 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา และทั้ง 25 ทีม จะต้องส่งผลธุรกิจฉบับสมบูรณ์ ภายในวันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2565 ซึ่งทางธนาคารออมสิน จะทำการคัดเลือกและสนับสนุนเงินทุนในการดำเนินธุรกิจเข้าโครงการ Smart Startup Company และรับการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจทีมละ 200,000.- บาท ภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคณะวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่นักศึกษาได้ร่วมกันสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนในการแข่งขันครั้งนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักเกียรติ จิตคติ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อาจารย์ที่ปรึกษาทั้ง 2 ทีม กล่าวว่า ในนานมอาจารย์ที่ปรึกษาขอขอบคุณธนาคารออมสินที่เร่งเห็นความสำคัญและจัดทำโครงการเพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่ครั้งนี้ และขอขอบคุณทีมงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทุกท่านที่ช่วยดูแลและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่นักศึกษาทั้ง 2 ทีม มาโดยตลอด จนประสบความสำเร็จในวันนี้ สำหรับผลงานและผลิตภัณฑ์ที่นักศึกษาทั้ง 2 ทีม ส่งเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ปัจจุบันในส่วนของผลงาน อาหารวัวเลียราง ได้มีการพัฒนาผลิตและจำหน่ายในนาม อาหารวัวมอมอ ฟีด (Moo Moo Feed) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับโคเนื้อ มีจำนวน 3 สูตร ซึ่งเหมาะสำหรับโคขุน โคแม่พันธุ์ และลูกโค โดยมีปริมาณของโปรตีนเท่ากับ 14%, 18% และ 20%ตามลำดับ โดยในผลิตภัณฑ์จะมีส่วนผสมหลัก อาหารซินไบโอติก (Synbiotic) ส่งผลให้โคเนื้อมีการเจริญเติบโตได้ดี ลดปัญหาท้องเสีย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในโคเนื้อ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในโคเนื้อ รวมถึงลดต้นทุนในการเลี้ยงโคเนื้อได้ในปัจจุบัน หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานติดต่อสอบถามได้ที่ นางสาวเกษนภา บัวทอง โทรศัพท์ 061-072-1593 และในส่วนของผลงาน โยเกิร์ตเพื่อสุขภาพซินไบโอติก BIOSYNถูกพัฒนาขึ้นจากพรีไบโอติก (อินนูลิน) และโปรไบโอติก (LACTOBACILLUS & S.THERMOPHILUS) สามารถช่วยผู้ที่ประสบปัญหาลำไส้ และต้องการดูแลสุขภาพ รสชาติอร่อย น้ำตาลน้อย และยังช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย เพื่อสุขภาพที่ดีต้องมี BIOSYN กินง่าย ถ่ายคล่อง รับรองรสชาติติดใจ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานติดต่อสอบถามได้ที่ นางสาวนลินรัตน์ วงค์ษาเคน โทรศัพท์ 062-995-8572
-------------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว