โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงษ์ วันที่ 26 ธันวาคม 2565 , 21:58:16 (อ่าน 1,351 ครั้ง)
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีการศึกษา 2564 นับเป็นเกียรติสูงสุดของบัณฑิต รุ่นที่ 31 โดยบริเวณอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา ทั้งภายในและภายนอกอาคารได้ตกแต่งไม้ดอกไม้ประดับอย่างงดงามและสมเกียรติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระแท่นที่ประทับพระราชทานปริญญาบัตร และบริเวณเวทีได้นำเสนอเรื่องราวมิติทางปรัชญาธรรมแห่งพระพุทธศาสนา ที่สอดคล้องกับความเป็นเมืองอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบ ของคณาจารย์คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
สำหรับแนวคิดในการออกแบบในส่วนของการตกแต่งพระแท่นที่ประทับพระราชทานปริญญาบัตร ส่วนด้านหน้าเวทีตกแต่งในกรอบความคิด การเสนอความเป็นเมืองอุบลราชธานี ผ่านมิติทางปรัชญาธรรมแห่งพระพุทธศาสนาซึ่งสอดคล้องกับความเป็นเมืองอุบลราชธานี ที่ว่าด้วยนครแห่งธรรมะและนครแห่งเทียน โดยสื่อความหมายผ่านเชิงช่างร่วมสมัยอย่างมีรากเหง้า โดยอ้างอิงรูปลวดลายที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์วิถีสังคมวัฒนธรรมพื้นถิ่นไทย-อุบลราชธานี ที่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงสองฝั่งโขงไทยลาวไทยกรุงเทพฯโดยเลือกนำเสนอ ผ่านรูปแม่ลายช่อดอกกาละกับหรือช่อดอกสัปปะรดอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งแม่ลายศิลปะราชสำนักเวียงจันทน์ สปป.ลาว และแม่ลายดอกพุดตาลอันเป็นแม่ลายสำคัญแห่งราชสำนักกรุงเทพฯ โดยช่อลายดังกล่าวจะถูกจัดวางเป็นแม่ลายในองค์ประกอบส่วนประดับตกแด่งในส่วนต่างๆและการใช้สีหลักด้วยสีน้ำเงิน เหลือง อันเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ทั้งหมดล้วนมีส่วนประกอบสร้างตัวตนความเป็นอุบลราชธานีอีกทั้งการเลือกใช้ ความเป็นตัวตนใหม่อย่างร่วมสมัยโดยอ้างอิงกับ วัดเรืองแสงหรือวัดภูพร้าว อำเภอสิรินธร โดยเลือกใช้สัญญะมงคลสำคัญอย่าง ต้นกัลปพฤกษ์ (ไม้สารพัดนึก) ซึ่งเป็นไม้มงคลตามตำนานพระพุทธศาสนาสำคัญที่อยู่ ด้านทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ และบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยต้นกัลปพฤกษ์มีสัญญะความหมายอันเป็น มงคลยิ่งแห่งความสมปรารถนา หาทุนทรัพย์สรรพเหตุใด ๆ ก็ดี ย่อมได้สำเร็จทุกประการ ดังนั้นการเลือกใช้ ต้นกัลปพฤกษ์ เป็นองค์ประกอบหลักเพื่อสื่อสาร ความเป็นมงคลคติแห่งความสำเร็จเปรียบดัง บัณฑิตของมหาวิทยาลัยลัยอุบลราชธานีซึ่งต้นกล้าสำคัญที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมต่อยอดสืบสานแตกกิ่งก้านแห่งคุณความดี ความรู้มาสร้างความเจริงรุ่งเรื่องความสำเร็จให้กับสังคมไทยต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการนำสัตว์มงคลคติพื้นเมืองลุ่มน้ำโขงอย่างนาค หรือนาคาคติ หมาส่วง มาเป็นทวารบาลพิทักษ์มณฑลพิธีโดยนำแนวคิดของ หมาส่วง เป็นสัตว์ที่หลายชนชาติสมัยโบราณเคารพบูชา ดังปรากฏภาพเขียนหลายแห่งในสุวรรณภูมิ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเก่าเล่าเป็นตำนาน ของมลฑลกวางสีว่า หมาส่วง เป็นผู้นำพันธุ์ข้าวจากสวรรค์มาให้มนุษย์ นับตั้งแต่นั้นมามนุษย์จึงยกย่องหมาเป็นผู้วิเศษ ในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ผู้คุ้มครองชุมชน หมาส่วง เป็นหมาวิเศษผู้ปราบปรามทุกข์ยาก ของกลุ่มวัฒนธรรมไทยลาว และนาคาคติ หรือพญานาคสัตว์ในความเชื่อพื้นเมืองสองฝั่งโขง ซึ่งทั้งหมดล้วนมีสัญญะความหมายสำคัญแห่งพลังอำนาจเสริมส่งบารมี ซึ่งได้ถูกนำมาสร้างสรรค์ใหม่อย่างร่วมสมัย เป็นส่วนประกอบเสริมสร้างบรรยากาศในพิธีอันเป็นสิริมงคลคติและร่วมแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
งานประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ / ข่าว