โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 10 มีนาคม 2566 , 13:54:27 (อ่าน 698 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ดร.ศิริสุดา แสนอิว BIMSTEC Coordinator คณะรัฐศาสตร์ นำ นางสาวกัญญภัทร บุญธรรม และ นางสาวจิตติภัทรา ช่างทำ นักเรียนระดับชั้น ม.4/12 ห้องเรียนพิเศษนิติศาสตร์ - รัฐศาสตร์ โรงเรียนสตรีสิริเกศ จังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้ความร่วมมือโครงการเรียนล่วงหน้ากับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เดินทางเข้าร่วมการแข่งขัน BIMSTEC Quiz Competition จัดโดยสำนักงานเลขาธิการบิมสเทค โดยมี ฯพณฯ H.E. Dr. Tandi Dorji รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานในพิธี และ นายวีระศักดิ์ เปรมอารีย์ ผู้อำนวยการประจำสำนักงานเลขาธิการบิมสเทค ร่วมเป็นเกียรติในงาน ระหว่างวันที่ 13-16 กุมภาพันธ์ 2566 ณ สถานีโทรทัศน์แห่งชาติภูฏาน
ดร.ศิริสุดา แสนอิว BIMSTEC Coordinator คณะรัฐศาสตร์ กล่าวถึงความสำคัญของความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ว่า ประกอบไปด้วย ชาติสมาชิก 7 ประเทศรอบอ่าวเบงกอล ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย โดย BIMSTECนับเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีศักยภาพในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากหากพิจารณาในแง่ของจำนวนประชากรและขนาดเศรษฐกิจแล้ว 1 ใน 5 ของประชากรโลก หรือประมาณ 2 พันล้านคนอาศัยอยู่ในภูมิภาคดังกล่าว โดยในปี 2565-2566 ประเทศไทยได้รับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC อีกด้วย ซึ่งการตอบปัญหาในครั้งนี้ มุ่งสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญและศักยภาพของ BIMSTEC ให้แก่เยาวชนและเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างโอกาสแห่งการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างชาติสมาชิก รวมไปถึงเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนา
ในขณะที่ นางสาวกัญญภัทร บุญธรรม นักเรียนโรงเรียนสตรีสิริเกศ กล่าวว่า ประสบการณ์ในการไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีและสำคัญมากครั้งหนึ่งในชีวิต ทั้งได้สัมผัสกับบรรยากาศและอากาศที่บริสุทธิ์ของเมืองแห่งความสุขอย่างภูฏาน แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับทั้งนานาประเทศ และร่วมงานกับเจ้าหน้าที่ทาง Bimstec Secretariat รวมทั้งผู้เข้าแข่งขันที่พร้อมจะช่วยเหลือและเป็นมิตรที่ดีต่อกันเสมอ
ด้าน นางสาวจิตติภัทรา ช่างทำ นักเรียนโรงเรียนสตรีสิริเกศ กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณมากๆที่ได้รับโอกาสนี้ การได้ไปเจอผู้คนใหม่ๆ เจอเพื่อนใหม่ ได้มิตรภาพ สัมผัสกับวัฒนธรรมใหม่ๆ แลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆ ได้รับรู้ถึงบรรยายของประเทศที่เราไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้ไปมันเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆและยังคงเป็นความรู้สึกที่เรายังสัมผัสและจำมันได้ตลอด
อนึ่งผู้แทนประเทศไทยทั้ง 3 ท่าน เป็นผู้ชนะเลิศจากการแข่งขันการตอบปัญหา BIMSTEC ในระดับภูมิภาค เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 และผ่านการคัดเลือกจากกระทรวงการต่างประเทศให้เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โรงเรียนสตรีสิริเกศ และกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเป็นอย่างดี