โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 17 ตุลาคม 2566 , 09:53:52 (อ่าน 740 ครั้ง)
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดฝึกอบรมโครงการสร้างความรู้ เสริมทักษะโซลาร์รูฟ รุ่นที่ 1 สำหรับบุคลากรทางการศึกษาและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริงในหน่วยงาน และเป็นแนวทางในการจัดทำโครงการ เพื่อขอรับทุนติดตั้งใช้งานโซลาร์รูฟในหน่วยงาน ตามนโยบายของภาครัฐ ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมี นายวัชรินทร์ บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดโครงการ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ธนรัฐ ศรีวีระกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลับอุบลราชธานี ตัวแทนผู้จัดการโครงการฯ กล่าวรายงาน มีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 80 คน ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 11-12 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ ดร.กุลเชษฐ์ เพียรทอง ผู้จัดการโครงการสร้างความรู้ เสริมทักษะโซลาร์รูฟ กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop) หรือโซลาร์รูฟ เนื่องจากค่าพลังงานไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้ากระแสหลักที่สูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนของระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา รวมถึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบสนองความต้องการใช้งานได้มากขึ้น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และส่งผลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมากเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และยังสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ ภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ จึงมีแนวคิดเชิงนโยบายให้เกิดการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟมากขึ้น มีการกำหนดประเด็นการปฏิรูปที่ 11การส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรีในแผนการปฏิรูปด้านพลังงานของประเทศ
ในการนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยศูนย์วิจัยและบริการด้านพลังงาน RSEC คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการสร้างความรู้เสริมทักษะโซลาร์รูฟ ดำเนินการจัดการอบรมดังกล่าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กทอ.) ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ในการถ่ายทอดความรู้นโยบายการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ของภาครัฐและเสริมสร้างความรู้และทักษะที่ถูกต้อง แก่บุคลากรทางการศึกษาและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แบ่งเป็น 9รุ่น เป้าหมายผู้เข้าอบรมไม่น้อยกว่า 450 คน ซึ่งตอบโจทย์แผนพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกของประเทศ ได้เป็นอย่างดี
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว