โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 19 ตุลาคม 2566 , 14:48:41 (อ่าน 1,876 ครั้ง)
ทีมนักศึกษา ม.อุบลฯ ชนะประกวดคลิปวีดีโอ ระดับดีมาก
เยาวชนสร้างสรรค์พัฒนาสังคม ร่วมรณรงค์รักษ์สิ่งแวดล้อม
--------------------------------------
ขอแสดงความยินดีกับ ทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้แก่ นางสาวสาวิตรี พิภักดิ์ นางสาวชลธินี บาลโสง และ นางสาวสระวะภา ปางชาติ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับรางวัลการประกวดคลิปวีดีโอ ระดับดีมาก รับโล่ประกาศเกียรติคุณ และเกียรติบัตร โครงการประกวดคลิปวีดีโอ หัวข้อ "เยาวชนสร้างสรรค์พัฒนาสังคม ร่วมรณรงค์รักษ์สิ่งแวดล้อม” ประจำปี 2566 จัดโดย สภาองค์กรเยาวชนสร้างสรรค์พัฒนาสังคม (องค์กรเอกชนด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน) ภายใต้การกำกับดูแลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สราวุธ ประเสริฐศรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปราณี นุ้ยหนู และ ดร. กรกนก นวลตา อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกล่าวโอวาทและกล่าวให้กำลังใจแก่เด็กและเยาวชน พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและ นายวรวุฒิ อุตสาแท้ ประธานสภาองค์กรเยาวชนสร้างสรรค์พัฒนาสังคม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดโครงการครั้งนี้ เพื่อชื่นชม ยินดี และสร้างขวัญกำลังใจในการเป็นแบบอย่างที่ดีของการเป็นต้นแบบเยาวชนจิตสาธารณะบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ ในการช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมของไทย และเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันอังคารที่ 17 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุมกรรณิการ์และราชาวดี (303-304) ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ
ตามที่สภาองค์กรเยาวชนสร้างสรรค์พัฒนาสังคม (องค์กรเอกชนด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน) ได้ดำเนินการจัดโครงการประกวดคลิปวีดีโอ หัวข้อ “เยาวชนสร้างสรรค์พัฒนาสังคม ร่วมรณรงค์รักษ์สิ่งแวดล้อม” ประจำปี 2566 ในการนี้ ผลของการประกวดคลิปวีดีโอ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการพิจารณาจากผลคะแนนจากการกดดู กดถูกใจ โดยผลการพิจารณาของคณะกรรมการผลปรากฏว่า เด็กและเยาวชนที่ชนะการประกวด 20 ทีมสุดท้าย แยกตามประเภทนับจากผลคะแนนการกดดู การกดถูกใจ 5 ทีม/ราย และประเภทพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 15 ทีม/ราย จากผลงานคลิปวีดีโอที่เด็กและเยาวชนจากทั่วประเทศส่งเข้าประกวดประมาณ 70 ผลงาน
สำหรับคลิปวีดีโอ ทีมมหาวิทยาลัยอุบลธานี เป็น 1 ใน 5 ทีม และคลิปวีดีโอที่ได้รับรางวัล คลิปวีดีโอ ระดับดีมาก ประเภทนับจากผลคะแนนการกดดู การกดถูกใจ โดยคลิปวิดีโอที่นักศึกษาทีมมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสร้างสรรค์ขึ้นครั้งนี้ มุ่งเน้นการสื่อสารเนื้อหาผ่านรูปแบบที่เป็น Animation 3D เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากการเผาฟางข้าว กล่าวคือ ภูมิประเทศและภูมิอากาศของประเทศไทยซึ่งเหมาะแก่การทำการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปลูก ข้าวที่เป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมีฟางข้าวเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก เกษตรกรส่วนใหญ่จะ นิยมเผาฟังข้าวเพื่อเตรียมพื้นที่ในการปลูกข้าวในครั้งถัดไป แต่การเผาฟางข้าวจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ เกิดเขม่าควัน เถ้า ฝุ่นละอองและมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ที่สามารถลอยตัวอยู่ในบรรยากาศได้เป็นเวลานาน จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบให้เกิดภาวะโลกร้อนจากภาคเกษตรกรรมอีกด้วย ดังนั้น พวกเราจึงเล็งเห็นถึงปัญหาของการเผาฟางข้าวซึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ จึงเกิดแนวคิดในการรณรงค์โดยจัดทำคลิปวีดีโอนี้ขึ้นใช้ ในรูปแบบที่เป็น Animation 3D ที่น่าสนใจเพื่อสร้างความดึงดูดใจ ให้ผู้คนได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากการเผาฟางข้าว การร่วมมือกันคนละเล็กคนละน้อยนั้นถือเป็นการยืดอายุให้กับโลกและตัวเราเองที่จะได้อยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุข “สูดออกซิเจนให้เต็มปอด แล้วกลับไปกอดคนที่เรารัก” และวีดีโอนี้เผยแพร่เพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยสภาองค์กรเยาวชนสร้างสรรค์พัฒนาสังคม #เยาวชนสร้างสรรค์สร้างไทยสร้างชาติ
นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาทีมมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนและเป็นแบบอย่างที่ดีของการเป็นต้นแบบเยาวชนจิตสาธารณะบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ เพื่อช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมของไทยในอนาคตต่อไป
ชม...คลิปวีดีโอทีม นักศึกษา มอบ.ได้ที่... https://www.youtube.com/watch?v=_D--gvflmpg
--------------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ข่าว/ภาพ สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ม.อุบลฯ