โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 , 22:25:49 (อ่าน 566 ครั้ง)
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีการศึกษา 2565 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเทิดไว้เหนือเกล้าฯ แก่บัณฑิต รุ่นที่ 32 ในวโรกาสที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มีบัณฑิตทุกระดับจำนวน 2,290 ราย เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ตกแต่งสถานที่ทั้งภายในและนอกอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ได้อย่างงดงามและสมเกียรติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระแท่นที่ประทับพระราชทานปริญญาบัตร และบริเวณเวทีได้นำเสนอเรื่องราว พหุวัฒนธรรมล้านช้างผสานศิลปะเหวี่ยดเกี่ยว(ญวน)ไท-อุบล ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบ ของคณาจารย์คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ดร.ติ๊ก แสนบุญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวถึงแนวคิด ในการออกแบบ แท่นที่ประทับ และบริเวณเวที นำเสนอ พหุวัฒนธรรมล้านช้างผสานศิลปะเหวี่ยดเกี่ยว (ญวน) ไท-อุบล เป็นการผสานกับวัฒนธรรมลาวล้านช้างเมืองอุบลราชธานี อันมีสายพระวอพระตาอันเป็นที่มาของประวัติศาสตร์การสร้างบ้านแปลงเมืองอุบลราชธานี โดยสื่อความหมายผ่านงานตกแต่ง ซึ่งเลือกแม่ลายช่อดอกกาละกับ หรือ ลายดอกบักนัด(ดอกสับปะรด)ในภาษาถิ่น ซึ่งถือเป็นแม่ลายสำคัญเอกลักษณ์สกุลช่างหลวงสายเวียงจันทน์แห่งราชสำนักล้านช้าง
ศิลปะเชิงช่างญวนได้เข้ามาผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมอีสานจนก่อให้เกิดเป็น นวัตกรรมแห่งการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆซึ่งสะท้อนให้เห็นเป็นหลักฐาน ทั้งในฐานะวัตถุทางวัฒนธรรมที่สนองตอบทั้งทางด้านร่างกายด้านความเป็นอยู่ และจิตใจ สะท้อนผ่านประโยชน์การใช้สอยใหม่ และรูปลวดลายสัญญะทางคติความเชื่อใหม่ๆที่นำเข้ามาสู่โลกทรรศ์ทางความคิดความเชื่อต่อคนอีสาน โดยแสดงออกผ่านรูปแบบและคติความเชื่อใหม่ร่วมกัน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการนำศิลปะเหวี่ยดเกี่ยวหรือญวนมาเป็นกรอบแนวคิดหลักในการสื่อความหมายผ่านงานสร้างสรรค์ ในรูปแบบต่างๆโดยมีรูปสัญญะสำคัญเช่น
มังกร หรือ ลอง เล้ง สัตว์สัญญะแห่งมงคลคติ กรอบแนวความคิด มังกร ยังเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคติความเชื่อเรื่อง พญานาค หรือ นาคาคติ ซึ่งพบอยู่ทุกกลุ่มสกุลช่างทั้งอีสาน และลุ่มน้ำโขง โดยนาค หรือ พญานาค ในวัฒนธรรมลาวสองฝั่งโขงนิยมเรียกตัวลวง หรืองูสรวงก็เรียก โดยใช้เรียกแทน สัตว์เลื้อยคลานในจินตนาการประเภท งู ที่มีปรากฏการณ์ความเชื่อทั้งในโลกวัฒนธรรมตะวันตกและโลกตะวันออก ทั้งนี้ พญานาค ในวัฒนธรรมอื่น ๆโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่รับอารยธรรมจากจีน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีและญวนใช้สัญลักษณ์เป็นรูป มังกร ซึ่งก็ผิดกันกับพญานาคก็เฉพาะรูปร่างหน้าตาและชื่อเรียกเท่านั้นซึ่ง จีนเรียกว่า เล้ง เล่ง หรือ หลง โดยคนไทยนิยมเรียกว่า มังกร ซึ่งอาจมาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า มกร โดยมังกรหรือ ลอง ในวัฒนธรรมเวียดนามมีความหมายแห่งพลังอำนาจวาสนา มังกรเป็นสัตว์แห่งสัญลักษณ์ของอำนาจสูงสุดของชั้นชั้นปกครอง มังกรได้รับจัดอยู่ในอันดับหนึ่งในสัตว์สูงส่ง 4 ตัวคือ “มังกร กิเลน เต่า หงส์” สำหรับชาวเวียดนามมังกรคือต้นกำเนิดของประชาชาติที่ผูกพันธ์กับตำนานที่เล่าสืบกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันว่า ในสมัยดึกดำบรรพ์ เทพเจ้า ถือมังกรเป็นสัตว์แห่งสัญญาลักษณ์ของการนำโชคของอำนาจและความเฉลียวฉลาดที่สุดใน 12 นักษัตร โดยมีการตกแต่งรูปลายประแจจีนหรือลวดลายสะวัดติกะที่เป็นลวดลายมงคลคติแห่งความโชคดีการประสบความสำเร็จดีงามในโลกตะวันตกและตะวันออก โดยอ้างอิงศิลปะญวน นำมาสร้างสรรค์เป็นรูปมังกรเทิน ตราสัญลักษณมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
การผสานกับวัฒนธรรมลาวล้านช้างเมืองอุบลราชธานีอันมีสายพระวอพระตาอันเป็นที่มาของประวัติศาสตร์การสร้างบ้านแปลงเมืองอุบลราชธานี โดยสื่อความหมายผ่านงานตกแต่ง ซึ่งเลือกแม่ลายช่อดอกกาละกับ หรือ ลายดอกบักนัด(ดอกสับปะรด)ในภาษาถิ่น ซึ่งถือเป็นแม่ลายสำคัญเอกลักษณ์สกุลช่างหลวงสายเวียงจันทน์แห่งราชสำนักล้านช้าง โดยมีการนำภูมิปัญญาสร้างสรรค์พุทธศิลป์จากวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่าง ขันกะหย่องซึ่งเป็นพุทธศิลป์สำหรับเป็นที่วางเครื่องบูชาถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญหัตถศิลป์อีสาน โดยนำมาใช้ในส่วนการจัดวางตกแต่งเครื่องดอกไม้ประดับสำคัญ อย่างมีเอกลักษณ์ ส่วนเฟื้องอุบะนำ มาลัยข้าวตอก มาผสมผสานงานร้อยตกแต่งด้วยมาลัยข้าวตอกแตก เพื่อสื่อสัญญะความหมายแห่งการแตกหน่อต่อยอดแห่งภูมิความรู้พุทธิปัญญาของบัณฑิต และมีการตกแต่งทวารบาลทางขึ้นลงด้วยรูปสัตว์มงคลอย่างคติหมาเก้าหางในตำนานความเชื่อพื้นเมืองมาประกอบร่วมพิธี โดยทั้งหมดนำมาสร้างสรรค์ประกอบสร้างความหมายแห่งพิธีมงคลของ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว
SDG Hashtag : #SDG4