โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 , 23:14:39 (อ่าน 744 ครั้ง)
ทีมนักวิจัย ม.อุบลฯ อนุรักษ์และสืบสานมรดกวัฒนธรรม
พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม Virtual Tour ผาแต้ม 360 องศา
-----------------------------------------
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ทีมนักวิจัยโครงการวิจัยย่อย “การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเสมือนจริงเพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี”ลงพื้นที่จัดกิจกรรม “คืนข้อมูลให้กับอุทยานแห่งชาติผาแต้ม” ภายใต้โครงการวิจัย “การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี” โดยกองทุนส่งเสริมแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)โดยมี นางสาววรรณฤดี สุขโต ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ให้การต้อนรับ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการจัดกิจกรรมและสาธิตระบบ Virtual Tour ผาแต้ม 360 องศา พร้อมประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาต่อยอดแหล่งท่องเที่ยวเสมือนจริง เพื่อขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ที่ 4 ในการอนุรักษ์ สืบสานและสร้างมูลค่าให้แก่ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการศึกษาเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมแหล่งท่องเที่ยวเสมือนจริงผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ดร.สมปอง เวฬุวนาธร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวิชาชีพ คณะวิทยาศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยย่อยฯ กล่าวว่า สำหรับโครงการวิจัย “การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเสมือนจริงเพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี” เป็นหนึ่งโครงการย่อยการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยทีมนักวิจัยได้ทำการสืบค้น สำรวจและจัดเก็บทุนทางวัฒนธรรม ในการพัฒนาการท่องเสมือนจริง Virtual Tour ผาแต้ม 360 องศา เพื่อสร้างการตระหนักรู้และสำนึกรักษ์ท้องถิ่น ในการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมผ่านการศึกษาภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์(ภาพเขียนสีผาแต้ม) ที่ตั้งอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติผาแต้ม เป็นสถานที่ที่ค้นพบร่องรอยลักษณะการใช้สีโบราณเขียนลงบนผนังถ้ำ มีอายุกว่า 4,000 ปี ถือว่าเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญ แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวและเคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ครั้งก่อนประวัติศาสตร์ เพื่อความสะดวกและเข้าถึงการรับชมภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาแต้มในทุกช่วงวัย ทีมนักวิจัยจึงได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการศึกษาเรียนรู้และการรับชม โดยพัฒนาเป็นระบบจำลองผาแต้มเสมือนจริงมองเห็นทิวทัศน์ 360 องศา ทั้ง 4 กลุ่มภาพเขียนสี ผ่านการใช้งานบนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และแว่น VR
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เล็งเห็นความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลและการท่องเที่ยวเสมือนจริง เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ที่สนใจศึกษาด้านประวัติศาสตร์หรือนักท่องเที่ยวที่ไม่สะดวกในการเดินทางแต่มีความประสงค์ที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านภาพเขียนสีผาแต้ม จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นักท่องเที่ยวสามารถรับชม“ผาแต้มเสมือนจริง 360 องศา” ได้ที่ https://khongchiam.ubu.ac.th/vt/
---------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว