โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 8 มิถุนายน 2567 , 13:00:29 (อ่าน 1,169 ครั้ง)
ม.อุบลฯ ร่วมกับ กสศ. จัด “มหกรรมมีกึ๋น มีกิน มีของ มีขาย มีรายได้”
ส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2566
---------------------------------
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) ร่วมกับ กองทุนเพื่อความ เสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 3 “มหกรรม มีกึ๋น มีกิน มีของ มีขาย มีรายได้” ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความ เสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โครงการหนุนเสริมทางวิชาการ ติดตามประเมินผล และถอดบทเรียน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2566 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุทัย อันพิมพ์ คณบดีคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับ และนางมัสยา คำแหง เลขาธิการมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต ในนามหัวหน้าทีมพี่เลี้ยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อติดตามสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยจัดการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างชุดความรู้และตัวแบบการทำงาน การพัฒนาทักษะแรงงานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน นำไปขยายผลสู่การทำงานและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ในการจัดการศึกษาเรียนรู้แบบยืดหยุ่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโรงแรมยูเพลส
ศาสตราจารย์ ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สำหรับเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 3 “มหกรรม มีกึ๋น มีกิน มีของ มีขาย มีรายได้” กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7 - 8 มิถุนายน 2567 ภายในงานกำหนดให้มีกิจกรรมการนำเสนอผลงานและผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกระบวนการจัดการเรียนรู้ของหน่วยจัดการเรียนรู้ 36 หน่วย มีการจัดแสดงผลงานและผลิตภัณฑ์ ชม เชียร์ ช้อปปิ้ง และชิมผลิตภัณฑ์ เพื่อถอดบทเรียนการทำงานและการสื่อสารสาธารณะ ผลการดำเนินงานตลอด 1 ปี โดยมีผู้เข้าร่วมในกิจกรรม ประกอบด้วย ทีมพี่เลี้ยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือทีมผู้ทรงคุณวุฒิและเจ้าหน้าที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ทีมกลางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หน่วยจัดการเรียนรู้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทีมจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ 150 คน ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความ เสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และในปี 2566 มีจำนวนหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งหมด 36 หน่วย โดยแบ่งเป็น 6 ประเภท ได้แก่ องค์กรพัฒนาเอกชน/มูลนิธิ/สมาคม วิสาหกิจชุมชน ธุรกิจ เอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐและสถาบันทางศาสนา ทำงานครอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัดในภาคอีสาน ครอบคลุมผู้ร่วมเรียนรู้ที่เป็นผู้ด้อยโอกาส คนยากจน กลุ่มเปราะบาง จำนวน 3,600 คน และได้ดำเนินการส่งเสริมทักษะอาชีพด 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเกษตร การทอผ้า บริการ อาหาร และทักษเฉพาะบุคคล เช่น ช่างไม้ ช่างไฟ ช่างตัดผม เป็นต้น โดยมีผลการดำเนินงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ร่วมเรียนรู้เกิดการเรียนรู้ มีความรู้ สามารถจัดการชีวิตมีทักษะอาชีพ มีผลิตภัณฑ์ ยกระดับผลิตภัณฑ์ สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และมีการรวมกลุ่มจัดการ ทำให้มีศักยภาพการผลิตและการต่อรองทางการตลาดเพิ่มขึ้น
----------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว