โพสต์โดย : สรายุทธ ดวงตา วันที่ 24 ตุลาคม 2567 , 15:48:04 (อ่าน 460 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีในโอกาสรับรางวัลหม่อมเจียงคำ ผู้มีจริยวัตรงดงามตามรอยคุณงามความดีของ หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ท.จ. โดยกองทุนเครือข่ายแห่งบุญหม่อมเจียงคำอนุสรณ์ ในงานวันเชิดชูเกียรติ และรำลึก หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ท.จ. ประจำปี 2567 โอกาสนี้ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธี ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 1000 คน ณ ลานหม่อมเจียงคำ วัดสุทัศนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี นับเป็นสตรีต้นแบบการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยนำองค์ความรู้และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับสังคม และตั้งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน เป็นหลักของท้องถิ่น เป็นปัญญาของแผ่นดิน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้สนับสนุนและอำนวยการการจัด ขบวนขันหมากเบ็ง ในงานเชิดชูเกียรติและรำลึกถึง หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา มาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมพิธีการ และศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี อาทิ งานพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรม พระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานี งานเทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสร้างคุณค่าให้กับผ้าพื้นเมือง สนับสนุนการดำเนินงานของคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในการนำคุณค่าของผ้าพื้นเมืองอุบลราชธานี ออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับคณะทูตานุทูต นำความงดงามของผ้าพื้นเมืองอุบลฯ สู่สายตานานาอารยประเทศ ส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรม ต่อยอด และสร้างมูลค่าผ่านแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหนุนเสริมชุมชนวัฒนธรรมเขมราษฎร์ธานี การพลิกฟื้นย่านสร้างสรรค์เมืองเก่าอุบลราชธานี ผ่านงานแนว (NAEW) และ งาน Ubon Art Fest เป็นต้น อีกทั้งผลักดันการสร้างศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center: TCDC) จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับเทศบาลนครอุบลราชธานี และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์อีกด้วย
ด้านวิชาการ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพเภสัชศาสตร์ มีผลงานวิจัยด้านสมุนไพรไทยที่ได้รับการยอมรับและได้รับการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อาทิ ฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกันต้านออกซิเดชั่น และต้านจุลชีพของสารสกัดด้วยน้ำของเสี้ยวแดง การพัฒนาแผ่นฟิล์มสมุนไพรเม็กเพื่ออนามัย ในช่องปาก ฤทธิ์ต้านจุลชีพของน้ำหมักชีวภาพที่เตรียมจากผักพื้นบ้านไทยอีสาน การประเมินฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกันของสมุนไพรไทย บางชนิดด้วยวิธีการวัดการเพิ่มจำนวนของลิมโฟชัยท์ การศึกษาพฤกศาสตร์พื้นบ้านของการใช้สมุนไพรเพื่อปรับภูมิคุ้มกัน ของร่างกายในจังหวัดอุบลราชธานี การใช้สมุนไพรในจังหวัดอุบลราชธานี และฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของสารสกัดสมุนไพร พื้นบ้านไทยบางชนิดที่ใช้รักษาผมหงอกก่อนวัย เป็นต้น
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ตร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา นำมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียนที่ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สังคม นำองค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและยกระดับเศรษฐกิจของอีสานได้จากฐาน BCG พร้อมทั้งสร้างเครือข่าย การทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศในการส่งเสริมการศึกษา วิจัยและบริการวิชาการ จนทำให้ในปี 2564 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับการจัดอันดับโดย Time Higher Education University Impact Ranking ใน SDG11 ด้านการ พัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ให้อยู่ลำดับที่ 1 ของประเทศไทยและ 34 ของโลก นอกจากนี้ SCIMAGO Institution Rankings ยังจัดอันดับให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีผลงานด้านนวัตกรรม เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทยอีกด้วย