โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 27 ตุลาคม 2567 , 23:09:33 (อ่าน 116 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ขับเคลื่อนนโยบายกระทรวง อว. ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ดำเนินการ “Upskill Reskill อว. for EV”ผ่านการอบรมหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตร “วิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่" ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะ และความเชี่ยวชาญของกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มงคล ปุษยตานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นประธาน มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมจำนวน 40 คน ระหว่างวันที่ 25 - 27ตุลาคม 2567ณ อาคาร EN 7คณะวิศวกรรมศาสตร์
ตามที่ กระทรวง อว. มีการดำเนินงานแบบบูรณาการในการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ กองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดทำโครงการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญของกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยและเครือข่ายคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวง อว. ดำเนินการ “Upskill Reskill อว. for EV” เพื่อพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศซึ่งเป็นรากฐานสำคัญผลักดันให้ประเทศไทย กลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์รายใหญ่ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสามารถสร้างความได้เปรียบให้แก่ประเทศไทยและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิตยานยนต์ของประเทศไทยจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEVs) การพัฒนาทักษะกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ดร.ประชา คำภักดี หัวหน้าโครงการอบรมหลักสูตรระยะสั้น กล่าวว่า การจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้น หลักสูตร วิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ เป็นโครงการบริการวิชาการโดยความร่วมมือ คณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิศวกรรมเครื่องกล และสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหน่วยงานอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ถ่ายทอดความรู้และทักษะที่ทันสมัยในเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า ให้มีทักษะในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนในระบบขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า เนื้อหาหลักสูตรประกอบด้วย หลักการทำงานทั่วไป โครงสร้างและส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า ระบบแบตเตอรี่ ระบบขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า การออกแบบ และ การจำลอง ระบบขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าเบื้องต้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และ ระบบสมองกลผังตัวเพื่อควบคุมวงจรแปลงผันกำลังไฟฟ้า การวัด และ ทดสอบ ระบบสัญญาณ เซนเซอร์ต่างๆ ในการควบคุมรถไฟฟ้า (VCU: Vehicle control Unit) แนะนำงานวิจัย รถ EV-Formula, รถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าดัดแปลง, รถตุ๊กๆไฟฟ้า, รถสามล้อไฟฟ้า
นอกจากนี้ หลักสูตรการอบรมยังช่วยพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการออกแบบและพัฒนาระบบขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต เสริมสร้างความเข้าใจและความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ยานยนต์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพและความสามารถของยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว
Tag อื่นๆ : #การจัดการศึกษา#วิจัยและนวัตกรรม